top of page

Intermittent Fasting หรือ IF คืออะไร? ทำให้ผอมลงได้จริงหรือไม่?

  • รูปภาพนักเขียน: แคลอรี่ ไดอารี่
    แคลอรี่ ไดอารี่
  • 8 ก.ค. 2563
  • ยาว 1 นาที

คำที่เรามักได้ยินบ่อยๆ โดยเฉพาะในหมู่คนรักสุขภาพ คงหนีไม่พ้นคำว่า “Intermittent Fasting” หรือว่า IF ซึ่งเป็นรูปแบบการกินอาหารที่ว่ากันว่าช่วยลดความอ้วนได้ และยังทำให้สุขภาพโดยรวมดีขึ้นอีกด้วย

Intermittent Fasting แปลตรงตัวว่า การอดอาหารเป็นช่วงๆ อย่างไม่ต่อเนื่อง ซึ่งการกำหนดช่วงเวลาสำหรับกินและอดอาหารอย่างเข้มงวด จะทำให้ระดับฮอร์โมนในร่างกายเปลี่ยนแปลง และส่งผลต่อระบบเผาผลาญของเราด้วยนั่นเอง


รู้จักกับ Intermittent Fasting

การกินอาหารและอดอาหารเป็นช่วงๆ แบบ Intermittent Fasting จะช่วยกระตุ้นระบบเผาผลาญผ่านการเปลี่ยนแปลงระดับฮอร์โมนในร่างกาย โดยช่วงเวลาที่เราอดอาหารนั้น ร่างกายจะมีการปรับระดับฮอร์โมน ดังนี้

  • ระดับอินซูลินลดลง อินซูลิน (Insulin) เป็นฮอร์โมนที่กระตุ้นการเก็บสะสมกลูโคสในรูปไกลโคเจน หรือเปลี่ยนให้เป็นไขมัน ดังนั้น เมื่อร่างกายมีระดับอินซูลินลดลง ก็จะมีการเผาผลาญไขมันที่เก็บไว้มาใช้เป็นพลังงานมากขึ้น และทำให้ไขมันในร่างกายเราลดลงนั่นเอง

  • ระดับโกรทฮอร์โมนเพิ่มขึ้น โกรทฮอร์โมน (Growth hormone) เป็นฮอร์โมนที่กระตุ้นการสร้างเซลล์ เนื้อเยื่อ และทำให้ร่างกายเจริญเติบโต เมื่อโกรทฮอร์โมนสูงขึ้น อัตราการสร้างกล้ามเนื้อก็จะยิ่งเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในคนที่ออกกำลังกายแบบเวทเทรนนิ่งอยู่แล้ว อีกทั้งโกรทฮอร์โมนยังกระตุ้นการสลายไขมัน ทำให้รูปร่างดูเพรียว กระชับ และได้สัดส่วนยิ่งขึ้น


Intermittent Fasting มีกี่รูปแบบ?


การอดอาหารแบบ Intermittent Fasting สามารถทำได้มากมายหลายรูปแบบ ตัวอย่างเช่น

  • 16/8 คือการอดอาหารต่อเนื่องกัน 16 ชั่วโมง และมีช่วงที่กินอาหารได้ 8 ชั่วโมงใน 1 วัน

  • 20/4 คือการอาหารเป็นเวลา 20 ชั่วโมง และกินอาหารได้เพียง 4 ชั่วโมงต่อวัน

  • Eat-Stop-Eat คือการอดอาหารแบบวันเว้นวัน หรือการอด 24 ชั่วโมงเต็ม ซึ่งควรทำไม่เกินสัปดาห์ละ 2 ครั้ง

รูปแบบ 16/8 เป็นรูปแบบที่คนนิยมกันมากที่สุด เพราะเป็นการอดอาหารที่ไม่ทรมานเกินไป แต่อย่างไรก็ตาม ในช่วง 8 ชั่วโมงที่สามารถรับประทานอาหารได้ ก็ต้องกินให้ครบ 5 หมู่ และได้พลังงานเพียงพอในแต่ละวัน รวมถึงจัดมื้ออาหารอย่างเหมาะสมด้วย

ตัวอย่างเช่น หากกำหนดเวลากินอาหารให้อยู่ระหว่าง 8.00 – 16.00 น. ในเวลาดังกล่าวควรกินอาหารให้ครบทั้ง 3 มื้อ โดยห่างกันมื้อละ 2 – 3 ชั่วโมง นอกจากนี้ ยังควรจัดเวลาออกกำลังกายในแต่ละวัน เพื่อให้การอดอาหารของเราได้ประสิทธิภาพสูงสุดด้วย

ข้อสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ การทำ IF ควรทำอย่างสม่ำเสมอโดยใช้รูปแบบเดิมเป็นประจำ (เช่น กินแบบ 16/8 ทุกวัน) เพื่อให้ร่างกายเกิดความเคยชิน และระบบเผาผลาญปรับตัวได้อย่างคงที่


ประโยชน์ของ Intermittent Fasting


ช่วยลดไขมันสะสมในร่างกาย


การเปลี่ยนแปลงระดับฮอร์โมนในช่วงอดอาหาร จะช่วยกระตุ้นการสลายไขมันที่สะสมในร่างกาย ทำให้รูปร่างที่เคยอ้วนกลมดูผอมเพรียวขึ้นได้ รวมถึงช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคร้ายที่เกิดจากไขมันในเลือดสูง เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ และโรคความดันโลหิตสูง เป็นต้น


ช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อ


การเสริมสร้างกล้ามเนื้อเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของโกรทฮอร์โมน ซึ่งนอกจากจะทำให้หุ่นดูลีน กระชับขึ้นแล้ว มัดกล้ามเนื้อที่แข็งแรงยังช่วยเพิ่มอัตราการเผาผลาญ และช่วยป้องกันอาการปวดเมื่อยในอนาคตได้


ช่วยชะลอวัยและป้องกันความเสื่อม


มีงานวิจัยที่พบว่า ยามที่ร่างกายอดอาหาร เซลล์จะถูกกระตุ้นให้เกิดการซ่อมแซมตัวเองผ่านกระบวนการ “Autophagy” ซึ่งหมายถึงการที่เซลล์กินตัวเอง และนำส่วนประกอบภายในเซลล์เดิมกลับมาใช้ใหม่ ทำให้เซลล์ในร่างกายเสื่อมสภาพช้าลงแม้อายุจะล่วงเลยไปก็ตาม นอกจากนี้ยังพบว่า การทำ IF ช่วยป้องกันโรคจากความเสื่อม เช่น โรคหัวใจ และโรคอัลไซเมอร์ได้อีกด้วย


ช่วยกระตุ้นการทำงานของสมอง


ในช่วงที่อดอาหาร ร่างกายจะสร้างสารให้พลังงานตัวหนึ่งเพื่อทดแทนกลูโคส เรียกว่า “คีโตนบอดี้” (Ketone body) ซึ่งเป็นสารที่สมองสามารถนำไปใช้ได้โดยตรง นักวิจัยเชื่อว่าเซลล์สมองช่วงที่ได้รับคีโตนบอดี้จะทำงานได้ดีกว่าปกติ การทำ Intermittent Fasting จึงอาจส่งผลให้ประสิทธิภาพการเรียนรู้และการทำงานดีขึ้นได้


Intermittent Fasting เหมาะกับใครบ้าง?


การทำ IF เหมาะกับคนที่ใช้ชีวิตตามตารางเวลาแน่นอนทุกๆ วัน และสามารถอดอาหารตามช่วงเวลาได้โดยไม่เสียสุขภาพ ส่วนคนที่ไม่ควรทำ Intermittent Fasting ได้แก่ เด็ก สตรีมีครรภ์และให้นมบุตร ผู้ป่วยโรคเบาหวาน และคนที่ต้องการพลังงานมากกว่าปกติ

 
 
 

Comments


Commenting on this post isn't available anymore. Contact the site owner for more info.

© 2020 Dimo Co.,Ltd

bottom of page